วิถีแห่งความทรงจำต่อคนที่จากไป

ช่วงนี้ ได้รับข่าวสารการจากไปของหลายท่าน ที่เป็นที่สะเทือนใจของสังคมก็เช่น คุณหมอกฤตไท หรือใกล้ตัวผมหน่อยก็คือท่านรองอธิบดีณัฐภาณุ นพคุณ ซึ่งท่านเคยเป็นผู้บังคับบัญชาผมเมื่อหลายปีก่อน ทุกคนคงรู้จักท่านดีกว่าในฐานะอดีตโฆษก ศบค. ภาคภาษาอังกฤษ ที่ออกโทรทัศน์ทุกวันช่วงโควิด ทำให้ผมนึกถึงเรื่องความทรงจำที่เรามีต่อผู้ที่จากไป

ผมมีโอกาสนึกถึงเรื่องนี้มาสักพักหนึ่งแล้วครับ และคิดว่าก็เป็นช่วงเวลาที่เหมาะสม โดยวันนี้เป็นวันพ่อแห่งชาติด้วย เลยอยากจะเขียนถึงวิถีแห่งความทรงจำที่ผมมีต่อพ่อที่จากไปแล้วหลายปีสักนิดหนึ่ง

คุณพ่อผมท่านจากไปตั้งแต่ปี 2552 นับถึงปีนี้ก็ 14 ปีแล้ว ผมเชื่อว่าแต่ละคนมีวิธีการจดจำและนึกถึงคนที่รักที่จากไปแตกต่างกัน และมีวิถีของตนเอง

สำหรับผม ผมมักจะนึกถึงพ่อเวลาขับรถ

นั่นก็เพราะว่า ผมมักใช้เวลาในวัยเด็กกับพ่ออยู่ในรถเสียส่วนใหญ่ เมื่อก่อน พ่อใช้รถเป็นพาหนะหลักในการพาแม่และผมไปท่องเที่ยว เปิดหูเปิดตา แสวงหาประสบการณ์ ไม่ว่าจะเป็นการขับรถไปลำปางเชียงใหม่ ที่ไปประจำจนผมคุ้นชินกับเส้นทางสายเหนือ ไปนอนดูฝนดาวตกทั้งคืนที่นครนายก หรือลงใต้ช่วงสงกรานต์ไปถึงปาดังเบซาร์

พ่อใช้รถทำอาชีพเสริมเพื่อหารายได้เพิ่มให้แก่ครอบครัวด้วยการรับของส่งของไปขายตามซุปเปอร์มาร์เก็ต/ร้านค้า/สหกรณ์ต่าง ๆ เรียกได้ว่า ตลอดช่วงประถมหลังเลิกเรียน ผมก็จะติดรถไปกับพ่อและแม่ ไปรับ/ส่งขนมขายตามที่ต่าง ๆ เสมอ กลับถึงบ้านราวสองสามทุ่มตลอด เคยรับทั้งเทปคาสเซทจากเยาวราช ขนมปังพรชัยไส้ทะลักจากบางลำพู ข้าวแต๋นจากลำปาง ปลากรอบจากหนองมน เอาขนมปี๊บมาแบ่งขาย แชมพูสมุนไพร รวมทั้งเค้กชิฟฟอน พ่อจึงเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของการไม่อายทำกิน ไม่หมิ่นเงินน้อย ไม่คอยวาสนา

เวลาที่นั่งอยู่ด้วยกันในรถ พ่อก็มักจะใช้เวลานี้ พูดถึงประสบการณ์วัยเด็กของตนเอง เล่าให้ฟังว่า อาม่า หรือย่าของผม เมื่อก่อนมีชีวิตเหมือนละครญี่ปุ่นที่ฉายในโทรทัศน์เรื่อง “โอชิน” ที่ตัวเอกคือสตรีที่ต้องดูลูกหลายคนจนเติบใหญ่ พ่อมักจะเล่าว่า ในอดีต อาม่าเองก็เช่นกัน จะต้องเลี้ยงลูกถึงแปดคน และแต่ละวันต้องเลี้ยงดูคนงานหลายร้อยคน และพ่อก็มักจะมีหน้าที่เดินตามอาม่าไปซื้อของในตลาด

พ่อใช้เวลาในรถอธิบายเหตุการณ์บ้านเมือง ประวัติศาสตร์ และสิ่งที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ ซึ่งเมื่อผมโตขึ้น ก็ถือโอกาสใช้เวลานี้ในการถกเถียงอย่างออกรสด้วย

หากเป็นช่วงเช้า ตอนไปโรงเรียน พ่อมักจะเปิดวิทยุ คลื่นข่าว และผมจำได้ว่ามีคลื่นหนึ่งที่ถ่ายทอดสัญญาณเสียงของ บีบีซี ภาคภาษาไทย ก่อนที่จะถูกปิดและเปิดใหม่เป็น บีบีซีไทย อย่างที่เห็นทุกวันนี้ เค้าจะเอาเรื่องเชคสเปียร์มาเล่า ผมฟังทุกเช้าและพอจบรายการก็จะถึงประสานมิตรพอดี

และที่สำคัญคือพ่อมักจะเอาเวลาที่อยู่ในรถซึ่งผมไปไหนไม่ได้ ในการอบรม สั่งสอน และดุ หลายครั้งผมแกล้งหลับ (จนหลับไปเลยก็มี) แต่ส่วนใหญ่ก็มักจะต้องฟัง (อาจจะแถมด้วยแม่อบรมต่อด้วย)

เวลาที่ใช้ร่วมกันในรถ จึงมากเหลือเกิน

ทั้งพ่อและแม่ของผมชอบขับรถ ผมน่าจะได้รับถ่ายทอดนิสัยนี้มาจากท่านทั้งสอง ทำให้วันหยุดสุดสัปดาห์ ผมเองก็มักจะใช้เวลาขับรถไปที่ต่าง ๆ และเมื่อได้จับพวงมาลัย หลายต่อหลายครั้งก็จะมีภาพของพ่อแฟลชขึ้นมาในหัว เป็นระยะ ๆ

ตอนเช้าขับรถไปทำงาน ก็มักจะเป็นภาพการนั่งฟังเรื่องเชคสเปียร์ของบีบีซีไทยที่เค้าเอามาเล่าอย่างเพลิดเพลิน หากผมหลับอยู่ในตอนนั้นพ่อก็จะปลุก เพราะรู้ว่าผมชอบฟังรายการนี้

ตอนขับรถไปต่างจังหวัดไกล ๆ ภาพที่แฟลชเข้ามาก็เป็นภาพที่พ่อเล่าเรื่องสมัยเด็ก

ตอนขับรถไปในกรุงเทพฯ เมื่อผ่านสถานที่ที่ ที่เราเคยไปส่งขนม ส่งของขายด้วยกัน ภาพเหล่านั้นก็แฟลชกลับมา หรือเส้นทางที่พ่อเคยขับไปส่งโรงเรียน ก็จะนึกถึงอีก

นึกถึงทีไรก็มักจะตามมาด้วยความคิดที่ว่า ถ้าพ่ออยู่ตอนนี้ พ่อจะคิดอย่างไรกับสิ่งนั้นสิ่งนี้ที่เกิดขึ้น พ่อจะมีความเห็นต่อเรื่องนี้อย่างไร พ่อจะยังดุเราเรื่องนี้อยู่หรือเปล่า พ่อจะชมเราบ้างไหม พ่อจะยังเห็นว่าทำสิ่งนี้ไม่ดีอยู่นั่นหรือเปล่า บางครั้งก็รู้สึกเสียใจที่ตอนเด็ก ๆ ทำกิริยาไม่ดีใส่พ่อบ้าง หรือเถียง ทะเลาะกันบ้าง

แน่นอน วันนี้ก็กลับไปแก้ไขอะไรไม่ได้ หรือความอยากรู้อยากเห็นว่าพ่อจะคิดอย่างไรกับเรื่องต่าง ๆ ก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้

แต่บางที การนึกถึงท่าน ให้ท่านโลดแล่นในความทรงจำของเรา ก็ทำให้ชุ่มชื่นหัวใจไม่น้อย เสมือนชุบชีวิตให้ท่านฟื้นขึ้นมาในชั่วขณะหนึ่ง เหมือนท่านไม่ได้ห่างเราไปไหน แต่ยังเด่นชัดในใจ อย่างน้อยก็ตลอดชีวิตที่ความทรงจำของเรายังคงอยู่นี้เอง

สำหรับคุณผู้อ่านล่ะครับ จดจำคนรักที่จากไปแล้วอย่างไรบ้าง

Loading