หนึ่งทศวรรษหลังลาสิกขาจากร่มกาสาวพัสตร์

ช่วงใกล้วันหยุดยาวเนื่องในวันเข้าพรรษาและวันอาสาฬหบูชาที่ผ่านมา เป็นจังหวะเดียวกับที่พี่ ๆ ที่เคยบวชหมู่เป็นพระนวกะพร้อมกันเมื่อช่วงเข้าพรรษาปี 2553 ได้ชวนผมเข้ากลุ่มไลน์ เพื่อเป็นช่องทางติดต่อ พูดคุย ธรรมะบ้าง ไม่ธรรมะบ้าง ทำให้ผมนึกได้ว่า บัดนี้ ก็เป็นเวลาล่วงสิบปีแล้ว เลยอยากจะนึกสะท้อนบทเรียน สิ่งที่เคยตั้งใจไว้เมื่อสิบปีที่แล้ว ปัจจุบันเป็นอย่างไรบ้าง

ผมบวชเมื่ออายุ 20 ปีพอดี เป็นช่วงที่กลับมาเมืองไทยระหว่างปิดเทอมฤดูร้อนหลังเรียนจบ A-level และกำลังรอผลที่ยื่นเข้ามหาวิทยาลัย ในมุมมองผมตอนนั้น ผมรู้สึกว่า จะบวชทั้งที ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องมีความพร้อมหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นความพร้อมด้านร่างกาย ไม่บังเอิญเจ็บป่วย ด้านหน้าที่การงาน และความพร้อมด้านจิตใจที่จะต้องถือศีลและประพฤติปฏิบัติตนภายใต้ร่มกาสาวพัสตร์ ผมตั้งใจว่าหากจะบวชก็อยากจะได้ศึกษาหาความรู้ ได้ฝึกปฏิบัติอย่างเป็นเรื่องเป็นราว

นึกขึ้นได้ว่าเมื่อตอน ม.4 โรงเรียนเคยพาไปเข้าค่ายพุทธบุตรที่วัดปัญญานันทาราม ที่คลองหก ในช่วงที่เข้าค่ายสามวันสองคืน พวกเราถือศีลแปดข้อ และนอนกางมุ้งใต้กลดในโรงนอน ฝึกนั่งสมาธิอย่างจริงจัง และที่วัดก็ไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกมากมายเกินความจำเป็น ไม่มีโบสถ์สีทองอร่าม และพระอาจารย์ที่อบรม ก็มุ่งเน้นการสอนให้เข้าใจหลักธรรม และสอนการปฏิบัติ ผมจึงได้ไปลองค้นหาก็พบว่าวัดปัญญานันทารามเป็นวัดที่หลวงพ่อปัญญานันทภิกขุมีดำริให้สร้างขึ้น ส่วนตัวท่านเองนั้นเป็นเจ้าอาวาสอยู่ที่วัดชลประทานซึ่งมีการจัดบวชหมู่เป็นประจำทุกเดือน แม้ในเวลานั้น หลวงพ่อปัญญานันทภิกขุท่านจะมรณภาพไปแล้ว แต่ธรรมเนียมการบวชหมู่ พิธีที่เรียบง่าย ไม่มีการแห่นาค และการเน้นการสอนหลักธรรมและการทำสมาธิซึ่งกลายเป็นสิ่งที่อยู่คู่วัดชลประทาน ก็ทำให้ผมรู้สึกว่าอยากจะบวชที่วัดนี้

ผมได้เคยเขียนเรื่องราวเกี่ยวกับการบวชไว้ในบล็อกเก่าของผม ในชื่อเรื่อง “ใต้ประทีปธรรม สิบห้าวัน ที่วัดชลประทานฯ” มีทั้งหมดสิบสองตอน สามารถติดตามอ่านได้ที่นี่ครับ จะมีรายละเอียดตั้งแต่ตอนเตรียมตัวบวช จนกระทั่งวันลาสิกขาครับ

ก่อนที่จะลาสิกขา ผมได้มีโอกาสฟังเทปธรรมเทศนาโดยหลวงพ่อปัญญานันทภิกขุที่เปิดในช่วงที่พระนวกะรับบาตรที่ลานหินโค้ง ท่านกล่าวไว้ทำนองว่า แม้จะเป็นฆราวาส เราก็สามารถบวชได้ เรียกว่า “บวชใจ” คือตั้งมั่นปฏิบัติในศีลในธรรม เจริญสติ ก็ถือว่าเป็นการบวช ผมฟังแล้วก็ตั้งใจว่า หากลาสิกขาไปแล้ว ก็จะพยายามบวชใจ พยายามครองสติ และนำเอาวัตรปฏิบัติและสิ่งที่ได้เรียนรู้ระหว่างเป็นพระนวกะมาปรับใช้ในชีวิตประจำวันให้ได้มากที่สุด แม้จะมีโอกาสบวชเป็นเวลาสั้น ๆ สิบห้าวัน แต่ก็เป็นสิบห้าวันที่มีความหมาย

สิบปีผ่านมาแล้ว ผมอยากจะสรุปสิ่งที่ได้เรียนรู้ สิ่งที่ได้คิด และปฏิบัติต่อเนื่องมา อาจจะห่างไปบ้างในบางเวลา แต่เมื่อมีเวลาก็พยายามจะกลับมาปฏิบัติให้ได้เช่นเดิม เหล่านี้คือข้อคิดที่ผมได้จากการบวชและยังคงอยู่กับผมมาตลอดสิบปีที่ผ่านมาครับ

1. สนใจเปลือกให้น้อย สนใจแก่นของพระพุทธศาสนาให้มาก – ในช่วงที่บวช ผมได้มีโอกาสอ่านหนังสือหลักธรรมของหลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ ได้อ่านหนังสือของหลวงพ่อพุทธทาส และได้ฟังคำสอนของพระอุปัชฌาย์ ตลอดจนพระอาจารย์ที่วัด ผมก็ตระหนักได้ว่า ศาสนาพุทธในปัจจุบัน มีพิธีกรรมที่ประพฤติปฏิบัติกันมาตามความเชื่อ ตามประเพณี ซึ่งไม่ได้ผิดอะไร หลายอย่างเป็นเสมือนกุศโลบายให้คนหันมาเข้าวัด หันมาฟังเทศน์ฟังธรรม แต่เมื่อเวลาผ่านไป เราอาจจะไม่ทันได้คิดว่าแท้จริงแล้ว พิธีกรรมเหล่านั้นเป็นไปเพื่อจุดประสงค์อะไร และสอดคล้องกับคำสอนของพระพุทธเจ้าหรือไม่ หากพิเคราะห์เทียบตามพระไตรปิฎก หรือตามหลักธรรมจริง ๆ แล้ว ประเพณีหลายอย่างไม่ใช่สิ่งจำเป็นเลย หรือหากจะทำ ก็ไม่ควรลืมสิ่งที่เป็นแก่นของพระพุทธศาสนา นั่นคือการฝึกจิตของเราให้ดี ให้เกิดปัญญา ให้เห็นว่าทุกสิ่งเป็นอนัตตา จิตที่ฝึกดีแล้ว ย่อมไม่ทำในสิ่งที่ไม่ดี ย่อมแสวงหาในสิ่งที่ดี และย่อมไม่ยึดติดแม้กับการทำบุญ

ตลอดสิบปีที่ผ่านมา ผมพยายามลดการเอาตัวเองเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับพิธีกรรมที่มากเกินความจำเป็น โดยเฉพาะพิธีกรรมที่เป็นเสมือนเปลือกหนาบดบังแก่นของคำสอน และพยายามจะเตือนตัวเองเสมอว่า โดยที่พิธีกรรมต่าง ๆ เป็นเพียงเครื่องช่วยให้เข้าถึงพระพุทธศาสนา หากบางครั้งจะทำไม่ครบขั้นตอนบ้าง แต่ไม่ได้ขัดกับหลักคำสอนที่เป็นแก่นของพระพุทธศาสนา ก็ไม่เป็นไร

2. สิ่งที่ติดตัวมาอีกประการหนึ่งก็เกี่ยวโยงกับข้อแรก นั่นคือการฝึกจิต ผมรู้สึกดีใจที่ได้มีโอกาสเรียนกรรมฐานในช่วงที่บวช ผมจำได้ว่านอกจากการเรียนหลักธรรมแล้ว พระนวกะที่วัดชลประทานฯ จะได้ฝึกปฏิบัติกรรมฐานทั้งช่วงเช้า บ่าย และค่ำ ผมได้เรียนรู้ว่า การฝึกจิตแท้จริงแล้ว ไม่จำเป็นต้องอยู่ในท่านั่งขัดสมาธิมือประสานกันและหลับตา นั่นเป็นเพียงหนึ่งในวิธีการกำหนดให้จิตนิ่งเท่านั้น แต่การฝึกจิตยังรวมไปถึงการเดินจงกรม แม้แต่การนอนก็สามารถทำสมาธิได้ หากไม่หลับเสียก่อน พระอาจารย์สอนว่า หลักใหญ่ใจความคือการตามจิตเราให้ทัน ให้รู้ว่าขณะนี้กำลังทำอะไรอยู่ นี่ก็คือการมีสมาธิอย่างหนึ่ง ซึ่งเมื่อรู้เช่นนี้ เราก็สามารถทำสมาธิที่ใดก็ได้ วิ่งมาราธอนอยู่ก็สามารถกำหนดซ้ายหนอขวาหนอและทำสมาธิไปด้วยได้

ในระหว่างบวช ผมได้อ่านหนังสือที่หลวงพ่อปัญญานันทภิกขุบรรยายหลักธรรมคำสอนสำคัญของพระพุทธศาสนาไว้ หนึ่งในเรื่องที่ผมประทับใจ คือเรื่องเกี่ยวกับความสำคัญของการกำหนดจิต เรื่องมีอยู่ทำนองว่า มีผู้สอบถามมากมาย ว่าสิ่งนี้ทำแล้วผิดศีลไหม สิ่งนั้นทำแล้วจะบาปไหม พระสงฆ์ช่วยดูแลแม่ที่ป่วย ทำให้ต้องแตะเนื้อต้องตัวสตรีเพศ เช่นนี้ผิดไหม เป็นต้น ซึ่งหลักสำคัญคือหากจิตคิดดีแล้ว กายกรรม วจีกรรม ก็ไม่สามารถทำผิดได้ นี่คือสิ่งที่อธิบายว่าเหตุใดการทำสมาธิจึงสำคัญ และพระพุทธเจ้าก็ได้เคยตรัสไว้ว่า “แม้จะได้อุปสมบทเป็นภิกษุรักษาศีล 227 ข้อ ไม่เคยขาด ไม่ด่างพร้อยมานานถึง 100 ปี ก็ยังได้บุญกุศลน้อยกว่าผู้ที่ทำสมาธิเพียงให้จิตสงบนานเพียงชั่วไก่กระพือปีก ช้างกระดิกหู”

การทำสมาธิในรูปแบบต่าง ๆ จึงเป็นสิ่งที่ผมพยายามทำมาโดยตลอด แม้จะไม่ต่อเนื่องในบางเวลา แต่ก็พยายามทำหากโอกาสอำนวย

และนี่ก็คือบทเรียนสองเรื่องที่ผมถือปฏิบัติมาในช่วงเวลาสิบปีภายหลังจากการบวชที่วัดชลประทานฯ สำหรับอนาคต ผมตั้งใจจะทำสองข้อข้างต้นต่อไป พยายามลดละกิจกรรมหรือพิธีกรรมที่เป็นเสมือนเปลือกหนาของพระพุทธศาสนาหากไม่จำเป็น และจะพยายามตั้งใจฝึกจิตให้ดีขึ้นครับ

Loading